Sunday, 22 December 2024

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้กับธุรกิจ

เมื่อโลกพลิกผัน และการใช้แรงงานของมนุษย์อาจไม่ได้ตอบโจทย์การปฎิบัติงานบางอย่างอีกต่อไป กับการเปลี่ยนผ่านของยุคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับตัวและรับมือกันพอสมควร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ที่เข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ และมีความสามารถในการทำงานบางอย่างได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย หากองค์กรใดที่ขาดการเกาะกระแส ติดตาม ศึกษา หรือไม่ได้จับตามองการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นนี้อยู่อย่างต่อเนื่องแล้วล่ะก็ เห็นทีอาจจะเสียเปรียบคู่ค้ารายอื่นๆ อย่างมากมาย และไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งในอนาคตได้อย่างแน่นอน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้กับธุรกิจ

การปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดขึ้นได้อย่างไร? และทำไมต้องเป็น 4.0

ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มีกระแสเกี่ยวกับการดิสรัปชัน (Disruption) ของเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจต่างๆ มีความตื่นตัว และเริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว งานที่อยู่ในรูปแบบของการดำเนินงานแบบซ้ำๆ เดิมเดิม ด้วยการใช้แรงงานของมนุษย์ จะถูกปรับเปลี่ยนให้มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขค้น แม้ว่าจะต้องมีการจัดเตรียมเงินทุนที่หนาพอสมควรในการปรับเปลี่ยนในช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านช่วงแรก แต่มันจะช่วยส่งผลดีในระยะยาวต่อธุรกิจ โดยการเปลี่ยนจากต้นทุนผันแปร เป็นต้นทุนคงที่ในบางส่วน และอาจก่อให้เกิดผลกำไรมากขึ้นอีกด้วยในอนาคต แถมยังไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับปัญหาจุกจิกในการบริหารคนอีกเลยก็อาจจะเป็นได้

จุดกำเนิดของการเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยี มีมาตั้งแต่ในสมัยอดีต เริ่มจากยุคอุตสาหกรรมในยุคที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ.1784 ด้วยการใช้เครื่องจักรพลังไอน้ำ (Mechanization, water/ stream power) และสืบเนื่องต่อมาเป็นการพัฒนาแบบการใช้กระแสไฟฟ้าเข้ามาช่วยให้เกิดการผลิตแบบสายพาน (Mass Production, Assembly line, Electricity) ในยุคที่ 2 ราวปี ค.ศ.1870 ทำให้สามารถผลิตสินค้าชนิดเดียวกันได้เป็นจำนวนมาก จากนั้น เมื่อเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคที่ 3 ราวปี ค.ศ. 1969 จึงได้มีการนำระบบอินเตอร์เน็ตและระบบคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยให้การทำงานเป็นไปในรูปแบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น และในที่สุด ก็ยังคงได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เข้ามาสู่ยุคของการทำงานด้วยระบบดิจิตัล อันเป็นการใช้ระบบวิศวกรรมเข้ามาบูรณาการให้คนทำงานกับเครื่องจักรได้ ผ่านเครือข่ายของระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งเป็นยุคที่ 4 หรือที่เราเรียกกันว่า การปฎิวัติอุตสาหกรรม 4.0 หรือ 4IR ที่ย่อมาจากชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า The Fourth Industrial Revolution หรือบางคนก็อาจเรียกกันสั้นๆ ว่า “ยุคอุตสาหกรรม 4.0” นั่นเอง

 

องค์กรต้องปรับตัวอย่างไรในยุค “อุตสาหกรรม 4.0”

อย่างที่ได้เกริ่นไป หากองค์กรใดไม่มีการปรับตัว อาจมีโอกาสตกอยู่ในความล้าหลัง และอาจก้าวไม่ทันคู่แข่งอื่นได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์จากองค์กร WEF : World Economic Forum หรือสภาเศรษฐกิจโลก ว่าตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป แรงงานมนุษย์อาจถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรกลกว่า 75 ล้านตำแหน่งเลยทีเดียว ดังนั้น เราลองมาดูกันค่ะ ว่าองค์กรควรต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้อย่างไรกันบ้าง

 

  • การเพิ่มทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีพื้นฐานให้กับพนักงานในองค์กร ( Reskilling / Upskilling)

เมื่อเทคโนโลยีมันเข้ามาหา เห็นทีว่าเราคงจะหนีไม่พ้น เพราะฉะนั้นเราทุกคน และองค์กรทุกหน่วยงานจะต้องอยู่กับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญขององค์กรที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นั่นคือ “พนักงาน” ดังนั้น การยกระดับขีดความสามารถของพนักงานด้วยการพัฒนาทักษะความรู้ที่มีอยู่เดิม และเพิ่มเติมทักษะใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า Upskill, Reskill จึงมีความสำคัญ ที่จะทำให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีได้ในอนาคต ด้วยการให้ความรู้พื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานให้กับพนักงาน อันเป็นการรักษาพนักงานเดิมที่มีความสามารถให้อยู่คู่กับองค์กรต่อไปได้อีกด้วย

ซึ่งตัวอย่างของชุดทักษะความรู้ที่ได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้ เช่น Business Intelligence, Big Data, Data Analytics, IIOT, AI, Machine Learning เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้คำแนะนำ ปรึกษา ช่วยเหลือผลักดันให้ภาคธุรกิจในประเทศไทยเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หากองค์กรใดสนใจ สามารถลองค้นหากันดูค่ะ

 

  • การเตรียมความพร้อมด้านการลงทุน เครื่องมือ และเครื่องจักร

แม้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าผลเสีย ช่วยให้สามารถลดเวลาการทำงาน เพิ่มการผลิตให้มีมาตรฐานคงที่มากขึ้น ง่ายต่อการควบคุมสั่งการผ่านจอมอนิเตอร์และระบบ แต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านเครื่องมือ เครื่องจักร อาจไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือลงทุนใหม่ทั้งหมดภายในครั้งเดียว เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนเงินทุนของธุรกิจอย่างแน่นอน อาจลองค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปทีละส่วน ลองวางแผนกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ช่วงระยะเวลา 3-5 ปี ควบคู่กันไปกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของพนักงาน เพราะถึงอย่างไรงานบางอย่างก็ยังต้องใช้แรงงานคนเป็นผู้ควบคุมอยู่ดี

 

ดังนั้น การเข้ามาของ “อุตสาหกรรม 4.0” ในครั้งนี้ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อก้าวไปสู่โลกของดิจิตอลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือองค์กรใหญ่ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีการปรับตัว และไม่ควรนิ่งนอนใจ บางองค์กร เริ่มกันไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายองค์กรที่ยังคงนิ่งนอนใจ

เพราะฉะนั้น เริ่มกันตอนนี้ก็ยังไม่สาย ดีกว่าปล่อยให้อะไรมันเปลี่ยนแปลงไปไกล เพราะหากรอให้ถึงเวลานั้น เราอาจจะตามการหมุนไปอย่างรวดเร็วบนโลกใบนี้ไม่ทันกันก็ได้ค่ะ