ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ สำหรับใครที่อยากจะใช้โอกาสนี้เสริมความเป็นสิริมงคลในชีวิตด้วยการสวดมนต์ข้ามปี กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำหนังสือในรูปแบบ E-BOOK โดยเป็นบทเจริญพระพุทธมนต์ การสวดมนต์ข้ามปี 2565 ซึ่งบทพระพุทธบมนต์ที่นำมาใช้สวดมนต์ข้ามปีนั้น ไม่ได้มีบทสวดกำหนดที่ชัดเจน อยู่ที่ความสะดวกของแต่ละคน และความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ โดยในคู่มือสวดมนต์ E-BOOK นี้ กรมการศาสนา ได้รวบรวม 33 บทสวด ดังนี้
บทชุมนุมเทวดา
- เป็นบทที่อัญเชิญเทวดามาร่วมฟังพระปริตร หรือมาร่วมในพิธีโดยขอให้เทวดามีความสุข ปราศจากทุกข์ และช่วยคุมครองมนุษย์ให้พ้นภัย
บทนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า
- เป็นบทที่เริ่มต้นก่อนที่จะมีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เรียกกันโดยทั่วไปว่า บทไหว้ครู เป็นบทที่ถวายความเคารพแด่พระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าพระองค์จะเสด็จปรินิพพานไปแล้ว แต่พระคุณยังคงอยู่มิได้ล่วงลับตามพระองค์ไป
บทไตรสรณคมน์
- เริ่มแรกเป็นบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นในพิธีบรรพชาอุปสมบท ต่อมาได้นำมาใช้ในการเริ่มต้นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาทั่วไปเป็นบทที่แสดงถึงการยอมรับพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
บทนมัสการสิทธิคาถา
- แยกเป็นบทสัมพุทเธ เป็นการกล่าวนอบน้อมพระพุทธเจ้า 3, 584, 192 พระองค์ และด้วยอานุภาพของการนอบน้อมก็ขอให้ภยันตรายทั้งปวงจงพินาศไป
บทโย จักขุมา
- เป็นบทที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประพันธ์ขึ้นใช้แทนบทสัมพุทเธ เนื้อหาของบทนี้แสดงความนอบน้อมต่อพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์และด้วยเดชของพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ขอให้มีชัยชนะมีความสำเร็จปราศจากอันตราย
บทนโมการอัฏฐกคาถา
- โดยทั่วไปเรียกว่า นโม 8 บท เป็นบทที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวรัชกาลที่ 4 ทรงแต่งขึ้นในครั้งที่ทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ เนื้อหาของบทนี้ว่าด้วยการนอบน้อม 8 ครั้ง คือ ในบทนี้มีคำว่า “นโม” 8 ครั้ง ใช้สวดต่อจากบทสัมพุทเธ หรือบทนมการสิทธิคาถา นิยมสวดในงานมงคล
บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
- เป็นบทที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดง มีความหมายว่า ทำกงล้อแห่งธรรมให้หมุนไป คือการนำพระพุทธศาสนาให้แผ่ขยายไปทั่วทุกทิศ
บทมงคลสูตร
- หมายถึงบทที่ว่าด้วยมงคล พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนถึงหลักธรรมที่นำ ความสุข ความเจริญ ซึ่งเรียกว่า มงคลอันสูงสุด 38 ประการ เมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติตาม จะเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ประสบความสำเร็จในทุกที่
บทรัตนสูตร
- หมายถึง บทที่แสดงอานุภาพของพระรัตนตรัยโดยตรง เมื่อเทวดา และมนุษย์รู้คุณค่าของพระรัตนตรัย ยอมรับนับถือ บูชาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว ย่อมก่อให้เกิดพลังใจในการต่อสู้ฟันฝ่า เพื่อชัยชนะต่ออุปสรรคปัญหาตลอดจนภัยทั้งหลายทั้งปวงได้
บทกรณียเมตตสูตร
- บทที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา พระพุทธเจ้าตรัสมุ่งหมายการแผ่จิตที่เกื้อกูล ปรารถนาดีให้แก่ตนเองและสรรพสัตว์ ปรารถนา ให้ตนเองและสรรพสัตว์ไม่มีเวรต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน มีแต่สุข ไร้ทุกข์ ปราศจาก ความขุ่นเคืองใจ ไร้พยาบาท
บทขันธปริตร
- บทที่มีความหมายว่า บทสวดป้องกันพญางู ส่วนสาเหตุที่ตั้งชื่อว่า ขันธปริตร นั้น อาจหมายถึงมนต์ป้องกันตัว (จากพญางู) ทั้งนี้ เนื่องจาก ขันธ แปลว่า ตัว หรือกาย นั่นเอง ในปริตรนี้พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องเมตตากรุณา
บทเมตตานิสังสสุตตปาฐะ
- บทที่กล่าวถึงอานิสงส์ของเมตตา 11 ประการ คือ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของอมนุษย์เทวดารักษา ไฟ ยาพิษ ศัสตราไม่กล้ำกราย จิตใจเป็นสมาธิได้เร็ว สีหน้าผ่องใส ไม่หลงตาย เมื่อยังไม่ถึงนิพพานไปเกิดในพรหมโลก
บทโมรปริตร
- บทที่หมายถึงคาถาสำหรับป้องกันตัวของพญานกยูง กล่าวคือ เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกยูง ได้เจริญมนต์เป็นประจำทำให้แคล้วคลาดจากภยันตราย ดังนั้น โบราณาจารย์จึงได้นำมาเป็นบทสวดมนต์เพื่อให้แคล้วคลาดจากอันตราย ปริตรนี้เป็นการกล่าวถึงการแสดงความนอบน้อม
บทจันทปริตตปาฐะ
- บทที่ประกาศขอให้พระพุทธองค์เป็นที่พึ่งเสมือนจันทิมเทพบุตรประกาศว่ามีพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง ทำให้พ้นภัยจากอสุรินทราหูด้วยพุทธานุภาพ
บทสุริยปริตตปาฐะ
- บทที่ประกาศขอให้พระพุทธองค์เป็นที่พึ่งเสมือนสุริยเทพบุตรประกาศว่ามีพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง ทำให้พ้นภัยจากอสุรินทราหูด้วยพุทธานุภาพ
บทวัฏฏกปริตร
- บทที่หมายถึงปริตรของนกคุ่ม คือ เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกคุ่ม ได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ระลึกถึงพระธรรมคุณตั้งสัจจาธิษฐานขอให้ไฟป่ามอดดับ
บทอนุสสรณปาฐะ
- บทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
บทอาฏานาฏิยปริตร
- บทที่กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายจนถึงองค์ปัจจุบัน ต่อจากนั้นก็บรรยายถึงท้าวมหาราชทั้ง ๔ ว่าใครเป็นอะไร มีหน้าที่อะไร และสุดท้าย ก็สรุปพระคุณของพระรัตนตรัย เชื่อกันว่า ผู้ใดสวดอาฏานาฏิยรักขาแล้ว บรรดายักษ์ และภูตผีปีศาจทั้งหลายจะไม่ทำอันตราย และคุ้มครอง
รักษาให้ปลอดภัย
บทอังคุลิมาลปริตร
- บทที่เป็นคำกล่าวของพระองคุลิมาลที่กล่าวว่าเมื่อได้เกิดในอริยชาติแล้ว ไม่เคยจงใจฆ่าเลย และด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้ผู้ที่อยู่ในครรภ์จงมีแต่ความสวัสดี
บทโพชฌังคปริตร
- บทที่ว่าด้วยองค์ธรรมที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ มี 7 ประการ คือ 1.สติความระลึกได้ 2.ธัมมวิจยะ ความสอดส่องธรรม 3.วิริยะความเพียร 4.ปีติความอิ่มเอมใจ 5.ปัสสัทธิความสงบใจ 6.สมาธิความตั้งใจมั่น 7.อุเบกขา ความวางเฉย
บทอภยปริตร
- บทที่เป็นการขอให้ลางร้าย สิ่งไม่เป็นมงคล เสียงนกเสียงกา ที่ไม่เป็นมงคล บาปเคราะห์ฝันร้ายพินาศไปด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ ตอนกลางเป็นการอัญเชิญเหล่าเทพยดาที่ได้อัญเชิญมาร่วมในงานมงคล ร่วมฟังสวด ร่วมรับสิ่งที่เป็นมงคล กลับวิมานไป และขอให้เทพยดาทั้งหลายได้ให้ทาน รักษาศีลเจริญภาวนา และตอนท้ายเป็นการขอให้อานุภาพของพระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหมดปกป้องคุ้มครองรักษา
บทสักกัตวา
- บทที่สรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่ายอดเยี่ยม และด้วยเดชแห่งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ขอให้สิ่งไม่ดีมลายสูญไป
บทนัตถิ เม
- บทที่ว่าด้วยที่พึ่งอันประเสริฐคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
บทยังกิญจิ
- บทที่ว่าด้วยรัตนะ หรือสิ่งมีค่าในโลกนี้คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
บทมงคลจักรวาฬใหญ่
- บทที่อ้างอานุภาพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ให้กำจัดทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวง
บทรตนัตตยัปปภาวาภิยาจนคาถา
- บทที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประพันธ์ขึ้น เป็นคาถาที่ขอให้อานุภาพของพระรัตนตรัย ขจัดอุปสรรคทั้งปวง ความสวัสดีมีแก่ประเทศไทย และขอให้เทวดาคุ้มครองรักษา
บทสุขาภิยาจนคาถา
- บทที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยารามแต่งขึ้น โดยขอให้อานุภาพของพระปริตรที่ได้สาธยายแล้วเกิดความสุขสวัสดิ์ในราชตระกูล เทวดาคุ้มครอง ฝนตกต้องตามฤดูกาลอาณาประชาราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุข
บทเทวตาอุยโยชนคาถา
- บทที่ว่าด้วยการขอให้สรรพสัตว์พ้นทุกข์ และเหล่าเทวดาที่มาร่วมอนุโมทนาบุญ ขอให้กลับไป
บทพุทธชัยมงคลคาถา
- หรือบทถวายพรพระ บทที่ว่าด้วยชัยชนะ 8 ประการอันเป็นมงคลของพระพุทธเจ้า
บทชยปริตร
- บทที่สวดเพื่อให้เกิดชัยมงคลในการทำ พิธีมงคลต่างๆ
บทภวตุ สัพพมังคลัง
- บทที่อ้างอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยเพื่อให้เกิดสรรพมงคล เทวดาคุ้มครองรักษา
บทนักขัตตยักข์
- บทที่อ้างอานุภาพพระปริตรที่ได้สาธยายแล้วกำจัดอุปสรรคอันตรายทั้งปวง
บทชัยมงคลคาถา
- บทคาถาสวดเพื่อให้เกิดมีชัยมงคลในการทำพิธีมงคลต่างๆ โดยกล่าวถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระกรุณาเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ เป็นสัจวาจาให้เกิดชัยมงคลในมงคลพิธีดังที่พระองค์ได้ทรงชนะมารที่โคนโพธิพฤกษ