ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ ไม่ว่าจะหยิบมาเล่ากี่ครั้งก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นได้เสมอ ใกล้เข้าฤดูร้อนของญี่ปุ่นแล้ว วันนี้เราก็มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูติผีปีศาจของญี่ปุ่นมานำเสนอให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ นั่นก็คือเรื่องราวของ “百鬼夜行 (hyakki yagyou)” หรือ “ขบวนร้อยอสูร”
百鬼夜行 (hyakki yagyou) หรือ ขบวนร้อยอสูรในยามค่ำคืน เป็นเรื่องเล่าที่กล่าวถึงการเดินขบวนขนาดใหญ่ของเหล่าภูติผีปีศาจจำนวนมากที่ปรากฏในเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ ของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเฮอันจนถึงสมัยมุโรมาจิ บางตำนานก็ว่ามี 100 ตัว บางตำนานก็ว่ามีมากกว่า 100 ตัว แต่รวม ๆ มี 100 ชนิด
ขบวนของเหล่าภูติผีนี้มักปรากฏตัวกลางดึกในช่วงเวลาที่เรียกว่า 丑三つ時 (ushimitsudoki) ซึ่งตามความเชื่อญี่ปุ่นถือเป็นเวลาที่ผีออกง่ายที่สุด (ราว ๆ 02.00 น. ถึง 03.00 น.) และจะปรากฏที่จุดเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณ อย่างสะพาน, 4 แยก หรือประตู ในบริเวณเขตชานเมืองและหมู่บ้าน ว่ากันว่าหากมนุษย์ผู้ใดไปเผชิญหน้ากับขบวนผีนี้จะต้องมีอันเป็นไปหรือประสบพบเจอกับภัยร้าย
หนังสือเด็ก 口遊 (kuchizusami) ในสมัยเฮอัน และหนังสือ 拾芥抄 (shuugaishou) ที่เขียนในยุคกลางของญี่ปุ่น มีการทำสรุปกำหนดการที่ขบวนร้อยอสูรจะออกมาปรากฏตัว ซึ่งอิงตามปฏิทินโบราณ ผู้คนก็จะงดเว้นจากการออกจากบ้านในคืนนั้น โดยหลัก ๆ แล้ววันที่ขบวนร้อยอสูรจะปรากฏตัวคือ
วันชวด เดือน 1 – เดือน 2
วันมะเมีย เดือน 3 – เดือน 4
วันมะเส็ง เดือน 5 – เดือน 6
วันจอ เดือน 7 – เดือน 8
วันมะแม เดือน 9 – เดือน 10
วันมะโรง เดือน 11 – เดือน 12
ถึงแม้ผู้คนจะพากันหวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงการพบเจอขบวนร้อยอสูร แต่ในหลาย ๆ เรื่องเล่าก็มีเหล่าผู้มีวิชาหลายคนที่สามารถต่อกรกับขบวนร้อยอสูรได้ ต่อให้เผชิญหน้าโดยตรงก็สามารถรอดชีวิตกลับมาได้ แต่หากคนธรรมดาบังเอิญไปเผชิญหน้ากับพวกมัน ว่ากันว่ามีคาถาที่สามารถช่วยได้คือ “カタシハヤ、エカセニクリニ、タメルサケ、テエヒ、アシエヒ、ワレシコニケリ” (katashihaya, ekasenikurini, tamerusake, teehi, ashiehi, wareshikonikeri) โดยคาถานี้จะมีความหมายว่าตนเองกำลังเมา เป็นการแสร้งว่าตนเองเป็นคนไม่มีสติ
เรื่องราวของขบวนร้อยอสูรมีปรากฏอยู่ในหนังสือโบราณของญี่ปุ่นมากมาย เช่น
今昔物語集 (konjaku monogatarishuu) หนังสือรวบรวมเรื่องเล่ามุขปาฐะที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นมากกว่าพันเรื่องที่เขียนในยุคเฮอัน
江談抄 (goudanshou) บันทึกการสนทนาในความรู้สาขาต่าง ๆ เช่น โคลงกลอนจีน กิจกรรมสาธารณะ และดนตรี เรียกอีกอย่างว่า suigenshou เขียนในสมัยเฮอันเช่นกัน
ขบวนร้อยอสูรได้รับการเขียนเป็นภาพม้วนหลายต่อหลายครั้งมาตั้งแต่อดีต แต่ภาพม้วนที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่คือ 百鬼夜行絵巻 (hyakki yagyou emaki) หรือที่นิยมเรียกกันว่า 真珠庵本 ผลงานของ 土佐光信 (Tosa Mitsunobu) จากสมัยมุโรมาจิ ปัจจุบันเป็นสมบัติของวัดไดโทคุจิ ชินจูอันในเกียวโต
ในขบวนร้อยอสูร นอกจากจะมีวิญญาณ อสูร และปีศาจหน้าตาน่ากลัวแล้วยังภูติผีประเภท 付喪神 (tsukumogami) ที่ถือว่าเป็น 1 ในประเภทผีญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์มาก เป็นวิญญาณที่เข้าไปสิงอยู่ในสิ่งของเก่า ๆ เช่น ร่ม เครื่องครัว ขาตั้งหม้อ ฆ้องที่แขวนในวัด เครื่องดนตรี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโยไคที่เป็นสัตว์อย่างสุนัขจิ้งจอก งูยักษ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
คำว่า 百鬼夜行 ยังมีความหมายโดยนัยที่ใช้เพื่อหมายถึง คนที่ตั้งกลุ่มแก๊งกันทำสิ่งที่น่าสงสัย หรือกลุ่มคนไม่ดีที่ทำทุกอย่างที่ต้องการ
นอกจากจะเป็นตำนานเรื่องเล่าที่น่าสนใจแล้ว ยังทำให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ความคิดความเชื่อที่มีต่อภูติผีที่มีมาตั้งแต่อดีต ทั้งยังเป็นการเก็บรักษางานศิลป์ที่มีคุณค่า ที่แม้ว่าจะนำมาวาดใหม่อีกกี่ครั้งก็ยังไม่ขลังเท่าออริจินอล สุดยอดมาก ๆ ^^